“เปิดลักษณะท่าเชื่อม รอยต่อและการไหลของน้ำเหล็ก”
การเชื่อมเหล็กนั้นหลาย ๆ ท่านอาจจะทำโดยความชำนาญหรือเกิดจากครูพักลักจำ แต่อาจจะไม่ได้ทราบถึงพื้นฐานและการทำงานว่าท่าเชื่อมเหล็กต่าง ๆ นั้นมีความสำคัญอย่างไรหรือแตกต่างกันอย่างไร การรู้ถึงทฤษฎีท่าเชื่อมเหล็กต่อไปนี้จะช่วยให้เราเข้าใจในกระบวนการทำงานและทำงานได้อย่างง่ายยิ่งขึ้น
5 ท่าเชื่อมเหล็ก 2 รอยต่อ ตามมาตรฐาน ISO 6947
1. เชื่อมท่าราบ PA (Flat Position) เป็นท่าเชื่อมพื้นฐาน การเชื่อมเหล็กด้วยท่าดังกล่าวบ่อหลอมจะไหลตัวลงชิ้นงาน ท่านี้สามารถควบคุมบ่อหลอม(รอยเชื่อม)ได้ง่าย เป็นท่าเริ่มต้นสำหรับงานเชื่อมเหล็ก
2. เชื่อมท่าขนานนอน PC (Horizontal Position) ท่าเชื่อมที่มีความยากปานกลางในการทำงาน การเชื่อมเหล็กด้วยลักษณะดังกล่าว บ่อหลอมจะไหลตัวลง(ตามแรงดึงดูด)ต้องควบคุมเป็นพิเศษเพราะน้ำเหล็กจะไหลตัวออกจากแนวรอยต่อของชิ้นงาน หากต้องการแนวเชื่อมกว้างต้องใช้วิธีการเชื่อมหลายแนว
3. เชื่อมท่าตั้ง (Vertical Position) ท่าเชื่อมแนวดิ่งเป็นท่าที่ใช้กันบ่อยที่สุดในงานก่อสร้างเป็นท่าเชื่อมเหล็กที่มีความยากปานกลาง บ่อหลอมไหลตัวลง(ตามแรงดึงดูด) ต้องอาศัยความชำนาญในการควบคุมบ่อหลอม การเชื่อมท่าตั้งแบ่งได้อีก 2 รูปแบบ
3.1 ท่าตั้งเชื่อมขึ้น PF (Vertical Upward) เหมาะสำหรับชิ้นงานที่มีความหนามาก ท่าเชื่อมเหล็กลักษณะดังกล่าวเหล็กจะหลอมติดกันได้ลึกกว่า เมื่อเชื่อมสมบูรณ์จะสามารถรับแรงได้ดีกว่าการเชื่อมลง
3.2 ท่าตั้งเชื่อมลง PG (Vertical Downward) เหมาะสำหรับชิ้นงานที่มีความหนาน้อย ท่าเชื่อมเหล็กลักษณะดังกล่าวบ่อหลอมไหลตัวลงด้านล่างต้องอาศัยการเดินลวดเชื่อมที่เร็วและปล่อยให้การไหลตัวของน้ำเหล็กช่วยหลอมเหล็กเข้าด้วยกัน
4. เชื่อมท่าเหนือศรีษะ PE (Overhead Position) ท่าเชื่อมที่มีความยากที่สุดสาเหตุเพราะตำแหน่งการเชื่อมเหล็กจะอยู่เหนือลวดเชื่อม ทำให้ควบคุมบ่อหลอมได้ยากและมีโอกาสที่น้ำเหล็กจะหยดใส่ตัวผู้ที่กำลังปฎิบัติงานเชื่อม ทำให้ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายแบบเต็มตัว
หลังจากที่เข้าใจถึงลักษณะท่าเชื่อมและลักษณะการไหลของน้ำเหล็ก สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เพื่อให้งานเชื่อมสมบูรณ์คือลักษณะของรอยต่อ การวางรอยต่อเชื่อมและตำแหน่งการเชื่อมที่ถูกต้อง จะช่วยให้ชิ้นงานเชื่อมมีความแข็งแรงตามลักษณะที่ควรจะเป็น
1. รอยต่อชน (ฺBut Weld) ในงานเชื่อม แนวเชื่อมจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง เนื้อเหล็กต้องหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับชิ้นงานตลอดในแนวเชื่อม โดยที่ชิ้นงานถ้ามีความหนาน้อยกว่า 3 มม. สามารถเชื่อมได้ทันที แต่หากชิ้นงานมีความหนามากกกว่า 3 มม. จะต้องมีการบากร่องชิ้นงานเพื่อน้ำเหล็กเกิดการซึมลึกมากพอที่จะให้เกิดความแข็งแรง
2. รอยเชื่อมมุม (Fillet Weld) รอยเชื่อมมุมเป็นแนวเชื่อมที่เราคุ้นเคยและต้องใช้งานกันเป็นประจำ ในบางครั้งจะมากกว่าการใช้งานรอยต่อชนเสียด้วยซ้ำ รอยเชื่อมมุมจะแบ่งออกเป็นอีก 3 รูปแบบด้วยกัน
2.1 รอยเชื่อมแบบต่อเกย ( Lap Joint ) เป็นการนำชิ้นงานมาซ้อนทับกันและเชื่อมบริเวณขอบชิ้นงาน ที่เกยทับกัน วิธีการต่อเกยควรใช้กับชิ้นงานที่สามารถวางทับกันได้แนบสนิท
2.2 รอยเชื่อมแบบตัว T ( T Joint ) เป็นการนำชิ้นงานมาวางต่อกันในลักษณะตัวที และเชื่อมลุงที่มุมทั้ง 2 ฝั่ง
2.3 รอยต่อมุม ( Corner Joint ) นำขอบชิ้นงานมาวางต่อตั้งฉากกันลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยให้เชื่อมทั้ง 2 จุด ทั้งส่วนของภายในมุมและภายนอกมุม